วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประเทศพม่า


วัฒนธรรมของพม่า

อาจกล่าวได้ว่า หากคุณเกิดเป็นลูกชายในครอบครัวชาวไทยใหญ่ ไม่ว่าจะยากดีมีจนแค่ไหน พ่อแม่ญาติพี่น้องจะต้องอยากเห็นคุณเข้าร่วมพิธีกรรมที่มีชื่อว่า ปอยส่างลอง สักครั้งในชีวิต เพราะพิธีกรรมนี้คือความภาคภูมิใจของพ่อแม่และชุมชนไทยใหญ่ที่ได้เห็นบุตรหลานของตนเปลี่ยนสถานภาพจากเด็กชายในโลกปุถุชนไปเป็นสามเณรในโลกธรรมะ
ปอยส่างลอง เป็นภาษาไทยใหญ่ คำว่า ปอย หมายถึง งานหรือพิธี ส่วนคำว่า ส่างลอง หมายถึง ผู้ที่จะบรรพชาเป็นสามเณรหรือส่าง รวมแล้วหมายถึง พิธีบรรพชาสามเณร นั่นเอง เชื่อกันว่า หากลูกชายได้ผ่านพิธีกรรมนี้จะได้อานิสงค์ 8 กัลป์ ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าภาพบวชลูกผู้อื่นจะได้อานิสงค์ 4 กัลป์
ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีโรงเรียน การบรรพชาเป็นสามเณรนอกเหนือจากเป็นโอกาสของบุตรชายที่จะได้ทดแทนบุญคุณมารดาแล้ว ยังเป็นโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนวิชาความรู้อีกด้วย ตามปกติ ปอยส่างลองมักจะจัดขึ้น เมื่อสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยว คือประมาณเดือนมีนาคม- เมษายนของทุกปี แต่ละหมู่บ้านจะมีการประชุมตกลงกันว่าจะจัดในช่วงเวลาไหน โดยจะไม่ให้ตรงกับที่อื่น เพื่อที่จะได้มีโอกาสไปร่วมงานปอยส่างลองในหมู่บ้านอื่น ๆ ได้
โดยปกติ ปอยส่างลอง มักจะจัดกันประมาณ 5 - 7 วัน พ่อแม่หรือผู้ปกครองของส่างลองจะต้องเตรียมข้าวของเงินทองและเครื่องใช้สำหรับจัดงานและเสาะหาผู้ที่จะมาดูแลส่างลองทั้งชายและหญิง หรือที่เรียกกันว่า“แม่เลี้ยงสาว”และ“ป้อเลี้ยงหม่าว” โดยจะต้องมีเป็นคู่ อาจจะมี 2 - 3 คู่ ป้อเลี้ยงหม่าวจะคอยผลัดเปลี่ยนกันแบกส่างลอง ส่วนแม่เลี้ยงสาวจะดูแลเรื่องข้าวปลาอาหารและการแต่งตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นญาติ ๆ หรือคนที่รู้จักสนิทสนมกัน
ก่อนถึงวันงาน บรรดาผู้ปกครองและญาติ ๆ จะพาส่างลอง ไปโกนผมที่วัด จากนั้น ส่างลองจะต้องนุ่งขาวห่มขาวและรับศีลห้า จากพระสงฆ์ จากนั้นบางแห่งจะมีการเดินขบวนกันไปขอขมาและเดินทางไปยังศาลเจ้าประจำหมู่บ้านเป็นการบอกกล่าวว่าจะมีการจัดปอยส่างลองขึ้น
ขั้นตอนต่อมาจะเป็นการ “รับส่าง” หรือ “ฮับส่าง” ในวันนี้ บรรดาญาติ ๆ ของส่างลองที่เป็นผู้หญิงจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงส่างลอง โดยจะช่วยกันแต่งองค์ทรงเครื่อง แต่งหน้าทาปากให้สวยที่สุด การแต่งกายของส่างลองจะประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนที่เป็นเครื่องประดับศีรษะ เสื้อและกางเกง
ส่วนที่ประดับศีรษะจะวางมวยผมของผู้เป็นบุพการีไว้บนศีรษะและโพกด้วยผ้าที่มีสีสันแล้วคลี่เป็นรูปพัดให้สวยงาม สมัยก่อนประดับประดาไปด้วยดอกไม้สดนานาชนิดแต่ปัจจุบันนิยมใช้ดอกไม้ประดิษฐ์เพราะความคงทนและสามารถนำไปใช้บวชได้อีกหลายงาน ส่วนเสื้อจะเป็นเสื้อคอกลมแขนยาวปักดิ้นเงินดิ้นทองระยิบระยับเมื่อต้องกับแสงแดดและสวมทับด้วยเครื่องประดับที่เรียกว่า “แคบคอ” และสร้อยมุก กางเกงเป็นแบบโจงกระเบน ปัจจุบัน นิยมตัดเย็บเป็นกางเกงสำเร็จรูป ใส่ถุงเท้าสีขาวคลุมน่องเป็นอันเสร็จเรียบร้อย
มีหลายตำนานความเชื่อที่พยายามอธิบายถึงที่มาที่ไปของการแต่งองค์ทรงเครื่องส่างลองให้เหมือนกับเจ้าชายตัวน้อย บ้างก็ว่าเป็นการจำลองการผนวชของเจ้าชายสิทธัทถะที่เสวยสุขก่อนจะสละราชสมบัติและออกผนวชในสมัยพุทธกาล อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า ในสมัยก่อนมีเด็กชายหน้าตาอัปลักษณ์ ทั้งยากจนและกำพร้าพ่อ ในขณะนั้นบรรดาลูกเศรษฐีในหมู่บ้านของเขาได้รวมตัวกันจัดปอยส่างลองขึ้น เด็กชายอัปลักษณ์อยากเป็นส่างลองแต่แม่ของเขาไม่มีเงิน เขาถูกคนอื่นๆ พูดจาถากถางว่าจนแล้วยังอยากที่จะเป็นส่างลองอีก เมื่อ บุนสาง หรือ พระพรหม ทราบเรื่อง จึงแปลงร่างเป็นชายชรามาให้เงินเพื่อนำไปจัดงาน และเสกให้เด็กชายหน้าตาอัปลักษณ์คนนั้นกลายเป็นเจ้าชายรูปงาม เมื่อแห่ไปรอบ ๆ หมู่บ้าน ชาวบ้านที่พบเห็นต่างกล่าวชื่นชมความงดงามส่างลองผู้นี้ตลอดทาง
บรรดาเจ้าชายตัวน้อยๆ จะได้รับการดูแลประคบประหงมเป็นอย่างดีเหมือนเป็นเจ้าชายจริง ๆ จะให้เท้าแตะพื้นไม่ได้ ซึ่ง “ตะแป่” จะเป็นผู้ที่แบกส่างลองไว้บนบ่าเมื่อต้องเดินขบวนแห่ หรือไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยจะมีบรรดาพี่เลี้ยงคอยกางร่มทองคำและดูแลเรื่องอาหารการกินและความเรียบร้อยของทรัพย์สินเครื่องประดับไม่ให้ขาดตกบกพร่อง และที่สำคัญอย่าให้ คลาดสายตา เพราะถ้าเผลอ อาจจะมีคนแกล้งอุ้มส่างลองไปซ่อน ซึ่งพี่เลี้ยงต้องหาตัวให้พบ และเมื่อพบแล้ว ผู้ที่ลักส่างลองไปจะไม่ยอมให้ตัวส่างลองไปง่าย ๆ แต่จะเรียกเงินกันเป็นค่าไถ่ตัว พี่เลี้ยงต้องยอมจ่ายเงินตามที่ถูกเรียกอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้
ขั้นตอนต่อไป “ตะแป่” จะแบกส่างลอง เข้าแถวไปเป็นขบวน ซึ่งกระหึ่มไปด้วยเสียง กลองมองเซิง เครื่องดนตรีประจำชาติของไทยใหญ่ บรรเลงร่วมกับฉาบและมอง(หรือฆ้อง-ฆ้องแบบไทยใหญ่จะประกอบด้วย ฆ้องขนาดต่าง ๆ ประมาณ 6 ลูกหรือมากกว่านั้นที่เรียงกันโดยใช้ 2 คนแบกหน้าหลัง คนข้างหลังจะเป็นคนตี โดยคันที่ใช้ตีจะเชื่อมกับไม้ตีทั้ง 6 ทำให้ตีครั้งเดียวจะเกิดเสียงฆ้องสูงต่ำกังวานประสานกัน) ขบวนจะร่ายรำไปตามที่ต่างๆ เพื่อ “กั่นตอ” หรือ “ขอขมา” โดยชาวบ้านจะนำข้าวตอกมาโปรยเมื่อขบวนส่างลองผ่านมาเป็นการอวยพร
จากนั้นจะเป็นการ “แห่โคหลู่” (เครื่องไทยทาน)และส่างลองไปยังวัด ในวันนี้ชาวบ้านมาร่วมงานกันมากซึ่งแต่ละคน ก็จะแต่งกายชุดประจำชาติไทยใหญ่ร่วมขบวนกันอย่างสวยงาม จากนั้นจะประกอบพิธีที่เรียกว่า “ฮ่องขวัญ” หรือ “เรียกขวัญ” คล้ายกับการทำขวัญนาค และเลี้ยงอาหาร 12 ชนิด (ในสมัยก่อนมีถึง 32 ชนิด จากความเชื่อว่าผู้บรรพชาต้องมีอวัยวะครบ 32 ปัจจุบัน เหลือเพียง12 ชนิด ซึ่งบางตำราก็กล่าวว่า หมายถึงข้าวปลาธัญญาหารที่อุดมสมบูรณ์ตลอดปี)
ในวันรุ่งขึ้นจึงจะถึงพิธีบรรพชา ในช่วงเช้าของวันจะเป็นการแห่ส่างลองในชุดประดับประดาเต็มยศไปยังวัด ในช่วงบ่ายจะเป็นพิธีกรรมในอุโบสถ โดยส่างลองจะกล่าวคำขออนุญาตบรรพชาจากพระเถระ เมื่อได้รับอนุญาตจากพระเถระแล้วจึงรับจีวรจากบิดามารดาเพื่อเปลี่ยนจากชุดส่างลองไปห่มผ้าเหลืองถึงตอนนี้อาจจะมีเสียงพระเถระประกาศให้ช่วยกันเช็ดลิปสติก บรัชออน และอายชาโดว์ที่ช่วยกันแต่งแต้มอย่างสวยงามในตอนเช้าออกให้หมดจด เพราะเมื่อรับศีลสิบแล้วจะถือว่าเป็นสามเณรอย่างสมบูรณ์ แต่ถ้าเณรน้อยในผ้าเหลืองยังปากแดง แก้มแดงอยู่ ก็คงจะดูไม่เหมาะนัก เมื่อพิธีกรรมในการบรรพชาเสร็จสิ้นลง ผู้คนต่างก็แยกย้ายกันกลับบ้าน แต่อาจจะมีการเลี้ยงฉลองความสำเร็จในการจัดเตรียมปอยส่างลองในหมู่ญาติพี่น้องและเจ้าภาพที่จัดงาน
ปัจจุบัน ชุมชนชาวไทยใหญ่ทั้งในรัฐฉาน ประเทศพม่า และชายแดนภาคเหนือของไทยยังคงจัดงานปอยส่างลองอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารูปแบบการจัดงานของแต่ละแห่งจะแตกต่างกันไปตามงบประมาณที่มี แต่สิ่งที่เท่าเทียมกันก็คือ ความภาคภูมิใจ ที่ได้เห็นเด็กชายห่มผ้าเหลืองและบุญกุศุลที่ได้จากการเปลี่ยนสถานภาพบุตรหลานจากโลกปุถุชนเข้าสู่โลกธรรมะ ดังเช่น งานปอยส่างลองที่จัดขึ้นในชุมชนชาวไทยใหญ่ที่หนีภัยการสู้รบมาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2545
เวลาประมาณ 8 โมงเช้า ของวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2545 เด็กชายวัย 8-19 ปีจำนวน 40 คนในชุดสีขาวกำลังยืนเข้าแถวด้วยใบหน้ายิ้มแย้มมีความสุข แม้วันนี้ พวกเขาจะไม่ได้เป็น “เจ้าชายสิทธัทถะ” ใส่เครื่องประดับสวยงาม ขี่หลัง “ตะแป่” เหมือนกับส่างลองในงานปอยส่างลองที่อื่น แต่พวกเขาก็ยังตื่นเต้นดีใจที่อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าจะได้เปลี่ยนจากเสื้อกางเกงสีขาวเป็นจีวรสีเหลือง สร้างบุญกุศลให้กับพ่อแม่ญาติพี่น้องและคนในชุมชนที่ร่วมกันจัดงานครั้งนี้ขึ้น
จายแสง เด็กชายวัย 10 ขวบ บอกเล่าถึงสาเหตุที่ต้องมาอยู่ที่นี่และความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมพิธีกรรมวันนี้ว่า
“ที่หมู่บ้านผมมีการสู้รบบ่อยๆ ผมจึงต้องหนีมาอยู่ที่นี่ และผมดีใจมากที่ได้บวชในวันนี้”
พิธีปอยส่างลองที่นี้มีความแตกต่างจากที่อื่นในหลายเรื่อง อาทิ อายุของเด็กชายที่เข้าร่วมงานซึ่งบางคนล่วงเลยมาถึง 19 ปี รวมทั้งหลายคนเป็นเด็กกำพร้า เพราะนับตั้งแต่ชุมชนแห่งนี้อพยพหนีภัยการสู้รบมาจากฝั่งรัฐฉานเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา พวกเขาต้องมีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก เนื่องจากไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทยให้เป็นผู้ลี้ภัย พ่อแม่ของเด็ก ๆ ต้องดิ้นรนทำงานหาเงินมาซื้ออาหารประทังชีวิต ด้วยรายได้เฉลี่ยเพียงวันละ 70-80 บาท จากสถานภาพที่ไม่แน่นอนและรายได้ที่จำกัดเช่นนี้ ทำให้กว่าจะได้จัดงานบวชครั้งนี้ เวลาก็ผ่านล่วงเลยไปจนอายุของเด็กหลายคนมากกว่าเด็กที่เข้าร่วมพิธีทั่วไป และด้วยงบประมาณอันจำกัด การจัดงานในครั้งนี้จึงไม่สามารถเนรมิตให้ “ลูกชาย” เป็น “เจ้าชาย” ได้ดังตั้งใจ รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ส่วนใหญ่ก็หยิบยืมหรือได้รับการบริจาคจากชุมชนภายนอก ด้วยเหตุนี้ เฉดสีเหลืองของจีวรในงานนี้จึงมีตั้งแต่สีอ่อนซีดไปจนถึงสีเข้ม รวมทั้งขนาดเล็กใหญ่ไม่พอดีกับขนาดตัวของผู้สวมใส่ แต่ถึงกระนั้น ผู้เข้าร่วมงานทุกคนก็ยังมองภาพบุตรหลานในชุดจีวรสีเหลืองด้วยความปลาบปลื้มใจ
พีธีกรรมในวันนี้ จัดขึ้นอย่างเรียบง่าย ในช่วงเช้า “ส่างลอง” จะใส่ชุดสีขาวเข้าแถวเรียงตามลำดับไหล่ยาวต่อกันไป ด้านหลังมีขบวนวงดนตรีแบบไทยใหญ่ครบชุด ตามด้วยครอบครัวและสมาชิกในชุมชน ขบวนค่อยๆ เคลื่อนออกจาก หมู่บ้านไปยังวัดซึ่งสร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่ จุคนได้ไม่เกิน 100 คน ทำให้บรรดาแขกเหรื่อส่วนใหญ่ต้องนั่งรออยู่ด้านนอก และเด็กๆ พากันแอบมองลอดฟากไม้ไผ่ดูผู้คนด้านในกันอย่างสนุกสนาน พิธีกรรม ภายในจะมีพระ 4 - 5 รูป สวดมนต์ และญาติช่วยใส่จีวรใหม่ให้ หลังจากประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อเปลี่ยนผ่าน “ส่างลอง” เป็นสามเณรแล้ว พ่อแม่ญาติพี่น้องก็จะนำข้าวของจำเป็นไปถวาย ก่อนที่พิธีจะเสร็จสิ้นลงในช่วงบ่าย
ผู้ปกครองคนหนึ่งเปิดเผยความรู้สึกของตนที่ได้เห็นชายผ้าเหลืองของลูกชายว่า
“มันเจ็บปวดเล็กน้อยที่เราต้องจัดงานบวชครั้งนี้แตกต่างจากที่เคยทำในรัฐฉาน แต่อย่างน้อยผมก็ยังภูมิใจที่ได้เห็นลูกชายอยู่ในผ้าเหลือง”
ปอยส่างลองที่ชายแดนไทย-พม่าแห่งนี้นับเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ดีว่า พิธีกรรมนี้มีความสำคัญสำหรับชีวิตลูกผู้ชายชาวไทยใหญ่ และสิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ไม่ว่างานจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่หรือเล็กกะทัดรัดเพียงใด รอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจของผู้คนที่เข้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น